จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

คำประสม

คำประสม

          คำประสม คือ คำที่มีคำ 2 คำหรือมากกว่านั้นมาประสมกันเข้าเป็นคำใหม่อีกคำหนึ่ง เจตนาในการสร้างคำประสมก็เป็นเช่นเดียวกับคำซ้อน คือให้ได้มีใหม่ใช้ในภาษา

ลักษณะคำประสม

คำประสมที่สร้างมีลักษณะต่างๆ ตามการใช้ แยกได้เป็น ที่ใช้เป็นคำนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ คำประสมที่ใช้เป็นคำนาม ส่วนมากคำตัวตั้งเป็นคำนาม ที่เป็นคำอื่นก็มีบ้าง  คำประสมประเภทนี้ใช้เป็นชื่อสิ่งต่างๆ ที่มีความหมายจำกัดจำเพาะ
พอเอ่ยชื่อขึ้นย่อมเป็นที่รับรู้ว่าเป็นชื่อของอะไรหากคำนั้นเป็นที่ยอมรับใช้กันทั่วไปแล้ว

          1. คำตัวตั้งเป็นนามและคำขยายเป็นวิเศษณ์ ได้แก่    มด+แดง คือ มดชนิดหนึ่งตัวสีแดง ไม่ใช่มดตัวสีแดงทั่วๆ ไป อาจ
เติมต่อเป็น มด+แดง+ไฟ ก็ได้ เป็นการบอกประเภทย่อยของ มดแดง ลงไปอีกทีหนึ่ง  รถ+เร็ว คือรถไฟที่เร็วกว่าธรรมดาเพราะไม่ได้หยุดแวะทุกสถานี    น้ำ+แข็ง คือ น้ำชนิดหนึ่งที่แข็งเป็นก้อนด้วยความเย็นจัดตามธรรมชาติ หรือทำขึ้น ที่เราใช้อยู่ทุกวันหมายถึงน้ำที่แข็งเป็นก้อนด้วยกรรมวิธีอย่างหนึ่ง  คำประสมลักษณะนี้มุ่งบอกลักษณะของสิ่งนั้นๆ ยิ่งกว่าอื่น จึงใช้คำขยายเป็นคำวิเศษณ์
          2. คำตัวตั้งเป็นคำนาม คำขยายเป็นกริยา บางทีมีกรรมมารับด้วย ได้แก่     ผ้า+ไหว้ คือ ผ้าสำหรับไหว้ที่ฝ่ายชายนำไปให้แก่ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง เพื่อแสดงความเคารพในเวลาแต่งงาน  ไม้+เท้า คือ ไม้สำหรับเท้าเพื่อยันตัว   โต๊ะ+กิน+ข้าว คือ โต๊ะสำหรับกินข้าว
          3. คำตัวตั้งเป็นคำนาม คำขยายเป็นคำนามด้วยกันได้แก่ เรือน+ต้น+ไม้ คือ เรือนที่ไว้ต้นไม้ไม่ให้โดนแดดมาก
เก้าอี้+ดนตรี คือ การเล่นชิงเก้าอี้มีดนตรีประกอบเป็นสัญญาณ  คน+ไข้ คือ คนที่เจ็บไข้ได้ป่วย อยู่ในความดูแลของแพทย์พยาบาล
แกง+ไก่ คือ แกงเผ็ดที่ใส่ไก่ ไม่ใช่แกงที่ใส่ไก่ทั่วๆ ไป
          4. คำตัวตั้งเป็นคำนาม คำขยายเป็นบุรพบท ได้แก่   
คน+กลาง คือ คนที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใด คนที่ติดต่อระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย
คน+ใน คือ คนในครอบครัว ในวงการ คนสนิท   
เครื่อง+ใน คือ อวัยวะภายในของสัตว์ ซึ่งมักใช้เป็นอาหาร ได้แก่   ตับ ไต ไส้ ของหมู วัว ควาย เป็นต้น
ฝ่าย+ใน คือ หญิงที่สังกัดอยู่ในพระราชฐานชั้นใน เป็นเจ้านายและ ข้าราชการ
ความ+ใน คือ เรื่องส่วนตัวซึ่งรู้กันในระหว่างคนสนิทกัน 2-3 คน
คน+นอก คือ คนนอกครอบครัว นอกวงการ
ของ+นอก คือ ของไม่แท้ มักใช้หมายถึงทองวิทยาศาสตร์ที่เรียกทองนอก
เมือง+นอก คือ ต่างกระเทศ มักหมายถึงยุโรป อเมริกา
นักเรียน+นอกก็มักหมายถึงนักเรียนที่เรียนในถิ่นทั้งสองนั้น
ฝ่าย+หน้า คือ เจ้านายและข้าราชการที่ไม่ใช่ฝ่ายใน
ความ+หลัง คือ เรื่องที่ผ่านมาแล้วของแต่ละคน
เบี้ยล่าง คือ อยู่ใต้อำนาจ
เบี้ย+บน คือ มีอำนาจเหนือ
คำประสมลักษณะนี้ย่อมมีความหมายทั้งหมดลงในคำคำเดียว

          5. คำตัวตั้งที่ไม่ใช่คำนาม และคำขยายก็ไม่จำกัดอาจเป็นเพราะพูดไม่เต็มความ คำนามที่เป็นคำตัวตั้งจึงหายไป กลาย
เป็นคำกริยาบ้าง คำวิเศษณ์บ้าง เป็นตัวตั้ง ได้แก่
ต้ม+ยำ ต้ม+ส้ม ต้ม+ข่า เป็นชื่อแกงแต่ละอย่าง มีลักษณะต่างๆ กัน เดิม น่าจะมีคำ แกง อยู่ด้วย เพราะขณะนี้ยังมีอีกมาก ที่พูด
แกงต้มยำ แกงต้มส้ม แกง(ไก่)ต้มข่า
เรียง+เบอร์ คือ ใบตรวจเลขสลากกินแบ่งของรัฐบาลที่มีเบอร์เรียงๆกันไป เดิมคงจะมีคำ ใบ อยู่ด้วย
พิมพ+์ดีด คือ เครื่องพิมพ์ดีด คำ เครื่อง หายไป แต่ที่ยังใช้เครื่อง ด้วยก็มี
สาม+ล้อ คือ รถสามล้อ คำ รถจะหายไปในภายหลังเช่นเดียวกัน
สาม+เกลอ (เครื่องยกตอกกระทุ้งลง มีที่ถือสำหรับยกสามที่)
สาม+ง่าม (ไม้หรือเหล็กที่แยกเป็นสามง่าม อาวุธที่มีปลายแหลมเป็นสามแฉก) ฯลฯ
คำประสมที่ใช้เป็นคำคุณศัพท์ คำตัวตั้งอาจเป็นคำนาม คำกริยาหรือ คำวิเศษณ์ ก็ได้ เมื่อประสมแล้วใช้ในความหมายธรรมดาก็ได้
ใช้ในความหมายเชิงอุปมาก็ได้ ส่วนมากใช้เป็นวิเศษณ์ขยายนาม ที่ใช้ขยายกริยาก็มีบ้าง
          1. คำตัวตั้งเป็นนามและคำขยายเป็นคำคุณศัพท์หรืออื่นๆ เช่น
ชั้นต่ำ ขยายนาม เช่น คน เป็น คนชั้นต่ำ
ลิ้นวัว ขยายนาม เช่น สตู เป็น สตูลิ้นวัว
ส้นสูง ขยายนาม เช่น รองเท้า เป็น รองเท้าส้นสูง

          2. คำตัวตั้งเป็นกริยาและคำขยายเป็นคำนามหรืออื่นๆ เช่น
กันเปื้อน ขยายนาม เช่น ผ้า เป็น ผ้ากันเปื้อน
วาดเขียน ขยายนาม เช่น ดินสอ กระดาษ เป็น ดินสอวาดเขียนกระดาษวาดเขียน
คิดเลข ขยายนาม เช่น เครื่อง เป็น เครื่องคิดเลข (คำนี้ละเครื่องไม่ได้อย่างเครื่องพิมพ์ดีด)

เผาขน ขยายนาม เช่น ระยะ เป็น ระยะเผาขน คือระยะประชิดตัว
กำลังกิน ขยายนาม เช่น มะม่วง เป็นมะม่วงกำลังกิน หรือใช้
กำลังกินกำลังนอน เช่น เด็กวัยกำลังกินกำลังนอน
          3. คำตัวตั้งเป็นคำวิเศษณ์และคำขยายเป็นคำนามและอื่นๆ เช่น
เขียวน้ำทะเล ใช้ขยาย สี เป็น สีเขียวน้ำทะเล
หลายใจ ใช้ขยาย คน เป็น คนหลายใจ มีความมุ่งหมายเชิงอุปมาว่า เปลี่ยนใจ เปลี่ยนคนรักบ่อยๆ
สองหัว ใช้ขยาย นก เป็น นกสองหัว มีความหมายเชิงอุปมาว่า คนที่เข้าทั้งสองข้าง

          4. คำตัวตั้งเป็นบุรพบทและคำขยายเป็นคำนามหรืออื่นๆเช่น
กลางบ้าน ใช้ขยาย ยา เป็น ยากลางบ้าน คือ ยาที่ชาวบ้านเชื่อถือกันเอง
กลางแปลง ใช้ขยาย โขน หรือ ละคร เป็น โขนกลางแปลง
ละครกลางแปลง คือ โขนหรือละครที่เล่นกลางแปลง
ในใจ ใช้ขยาย เลข เป็น เลขในใจ
ข้างถนน ใช้ขยาย เด็ก เป็น เด็กข้างถนน คือ เด็กที่ไม่มีพ่อแม่เอาใจใส่
นอกครู ใช้ขยาย หัวล้าน เป็น หัวล้านนอกครู ไม่ประพฤติตามแบบ

คำประสมใช้เป็นคำคุณศัพท์หรือคำนาม มีความหมายในเชิงอุปมา ดังนี้
          1. คำตังตั้งเป็นคำนามชื่ออวัยวะของร่างกาย คำขยายเป็นคำนาม กริยา หรือคุณศัพท์ ความหมายของคำที่ประสมแล้วมีอุปมาเปรียบเทียบดุจดังสิ่งนั้นๆ มีลักษณะหรืออาการอย่างนั้น ที่ใช้เป็นชื่อต้นไม้มีเป็นอันมาก แสดงว่ามีลักษณะเหมือนสิ่งนั้นๆ ดังนี้

หัว ได้แก่ หัวนอก หัวไม้ หัวเรือใหญ่ หัวหน้า หัวพุงหัวมัน หัวแข็ง หัวอ่อน
หน้า ได้แก่ หน้าม้า หน้าเป็น หน้าตาย หน้าหนา หน้าบาง
ตา ได้แก่ ตากบ ตากุ้ง ตาไก่ ตาขาว ตาเขียว
ปาก ได้แก่ ปากกา ปากไก่ ปากฉลาม ปากเป็ด ปากแข็ง ปากตลาด
ลิ้น ได้แก่ ลิ้นไก่ ลิ้นปี่ ลิ้นทะเล ลิ้นหมา ลิ้นงูเห่า ลิ้นมังกร
คอ ได้แก่ คอแร้ง คอหอย คอแข็ง คอสูง คอสอง
ใจ ได้แก่ ใจกว้าง ใจแคบ ใจจืด ใจดำ ใจน้อย ใจใหญ่ ใจเบา ใจเย็น ใจร้อน ใจลอย

          2. คำตัวตั้งเป็นคำนามอื่นๆ ที่มีลักษณะอันจะนำมาใช้เป็นอุปมาเปรียบเทียบได้ คำขยายเป็นคำกริยาหรือคำนาม ได้แก่
ลูก มักหมายถึง สิ่งที่มีลักษณะกลมหรือที่มีลักษณะเป็นรองประกอบกับสิ่งที่ใหญ่กว่าสำคัญกว่า มีคำว่า  ลูกกวาด ลูกช่วง ลูกชิ้น ลูกดิ่ง ลูกตุ้ม ลูกบวบ ลูกฟูก ลูกโยน  ลูกคิด ลูกจ้าง ลูกน้อง ลูกความ ลูกขุน ลูกค้า ลูกช้าง ลูกเลี้ยง ลูกไล่ ลูกวัด

แม่ มักหมายถึง ผู้มีความสำคัญ อาจขนาดหัวหน้างาน ปกครองคนหรือหมายถึง สิ่งสำคัญกว่าใหญ่กว่า มีคำว่า
แม่งาน แม่ทัพ แม่บ้าน แม่สื่อ แม่เลี้ยง แม่ครัว แม่มด แม่บท แม่ย่านาง แม่แรง แม่เหล็ก แม่พิมพ์ แม่น้ำ แม่เบี้ย

คำประสมที่ใช้เป็นกริยา ส่วนมากใช้คำกริยาเป็นคำตัวตั้งและคำขยาย แต่ที่ใช้คำอื่นเป็นคำตัวตั้งและคำขยายก็มี ความหมายมักเป็น


ไปในเชิงอุปมา ดังนี้

          1. คำตังตั้งเป็นคำกริยา คำขยายเป็นกรรม มีความหมาย กำหนดใช้เป็นพิเศษ เป็นที่รับรู้กัน คือยิงปืน (หรือ ยิงธนู ยิงหน้าไม้ ยิงปืนกล) หมายความว่า ยิงด้วยปืน ด้วยธนู ทำให้ลูกปืนหรือลูกธนูแล่นออกไปโดยแรงด้วยแรงส่ง ไม่ใช่ยิงไปที่ปืน อย่างยิงคน ยิงสัตว์  ตัดเสื้อ (ตัดกางเกง ตัดกระโปรง) หมายว่า ตัดผ้าทำเป็นเสื้อกางเกง หรือกระโปรง ไม่ใช่ตัดผ้าที่เย็บเป็นเสื้อแล้ว
ตัดถนน (ตัดทาง) ทำให้เกิดเป็นทางขึ้น ไม่ใช่ตัดทางหรือตัดถนนที่มีอยู่แล้ว    ขุดหลุม (ขุดบ่อ ขุดคลอง) ทำให้เกิดเป็นหลุม บ่อ หรือคลองขึ้น ไม่ใช่ขุด หลุม หรือบ่อ หรือคลอง ที่มีอยู่แล้ว   เดินจักร เย็บผ้าด้วยจักร คือทำให้จักรเดิน ไม่ใช่เดินไปที่จักร

          2. คำตัวตั้งเป็นคำกริยา คำขยายเป็นคำนามที่เป็นชื่อวัยวะของร่างกาย มีความหมายไปในเชิงอุปมา ดังนี้

กริยา + ใจ
กินใจ หมายความว่า แคลงใจ สงสัย ไม่วางใจสนิท
ตั้งใจ " ทำโดยเจตนา จงใจ
ตายใจ " วางใจ เชื่ออย่างไม่สงสัย
นอนใจ " วางใจไม่รีบร้อน
เป็นใจ " สมรู้ร่วมคิด รู้กัน
กริยา + หน้า
หักหน้า " ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งได้อาย
ไว้หน้า " รักษาเกียรติไว้ให้ ไม่พูดจาให้เป็นที่เสื่อมเสีย
ได้หน้า " ได้รับคำยกย่องชมเชย
เสียหน้า " ได้รับความอับอาย
กริยา + ตัว
ไว้ตัว " ถือตัว ไม่สนิทสนมกับใครง่ายๆ
ออกตัว " พูดถ่อมตัวไว้ก่อน กันถูกตำหนิ
ถือตัว " ไว้ตัว เพราะถือว่าตนเหนือกว่าด้วยฐานะ ความรู้ ฯลฯ

ที่คำขยายเป็นคำนามอื่นๆ ก็มี เช่น วิ่งราว วิ่งรอก เดินแต้ม  เดินโต๊ะ

          3. คำตัวตั้งเป็นคำกริยา คำขยายเป็นบุรพบท ได้แก่
กินใน หมายความว่า แหนงใจ ระแวงสงสัย ไม่สนิทได้ดังเดิม
เสมอนอก " เอาใจใส่ช่วยอยู่ห่างๆ ภายนอก
เป็นกลาง " ไม่เข้าข้างใคร
          4. คำตัวตั้งเป็นบุรพบท คำขยายเป็นคำนาม ได้แก่   นอกใจ หมายความว่า ประพฤติไม่ชื่อตรง เอาใจไปเผื่อแผ่ผู้อื่นนอกจากคู่ของตน   นอกคอก " ประพฤติไม่ตรงตามแบบแผนธรรมเนียม
          5. คำตัวตั้งเป็นคำวิเศษณ์ คำขยายเป็นคำนามที่เป็นอวัยวะของร่างกาย
วิเศษณ์ + ใจ
แข็งใจ    หมายความว่า     ทำใจให้แข็งแรง ไม่ท้อถอยเหนื่อยหน่าย
อ่อนใจ             "     ระอา ท้อถอย
น้อยใจ             "     รู้สึกเสียใจ แค้นใจที่ได้รับผลไม่สมกับที่ลงแรงหรือท่หวัง
ดีใจ         "     ยินดี
วิเศษณ์ + หน้า
น้อยหน้า           "    ไม่เทียมหน้าคนอื่น
หนักหน้า     "     ภาระหรือความรับผิดชอบตกอยู่ที่ตน
วิเศษณ์ + มือ
หนักมือ            "     รุนแรง กำเริบ
แข็งมือ             "     ตั้งข้อสู้ไม่ลดละ
น่าสังเกตว่าคำประสมลักษณะนี้โดยมากสับหน้าสับหลังกันได้เช่น    แข็งใจ-ใจแข็ง อ่อนใจ-ใจอ่อน น้อยใจ-ใจน้อย ดีใจ-ใจดี หนักมือ-มือหนัก  แข็งมือ-มือแข็ง (น้อยหน้า กับ หนักหน้า สับไม่ได้ ไม่มีความหมาย)คำที่สับหน้าสับหลัง สับที่กันเช่นนี้ หน้าที่ของคำต่างกันไปด้วยคือคำที่มีชื่ออวัยวะร่างกายอยู่ข้างท้าย เช่น วิศษณ์ + ใจ คำนั้นใช้เป็นคำกริยาแต่ถ้าชื่ออวัยวะร่างกายอยู่ต้นคำ เช่น ใจ + วิเศษณ์ คำนั้นใช้เป็นคำขยายนาม
ส่วนคำในข้อ 2 ที่คำตัวตั้งเป็นกริยาและคำขยายเป็นชื่ออวัยวะคำลักษณะนี้สับหน้าสับหลังกันไม่ได้ เช่น ตั้งใจ นอนใจ ไม่มี ใจตั้ง
ใจนอน นอกจากบางคำซึ่งนับเป็นส่วนน้อย เช่น เสียหน้า มี หน้าเสีย

          6. คำตัวตั้งเป็นกริยา คำขยายก็เป็นกริยา มีความสำคัญเท่ากันเหมือนเชื่อมด้วยและ อาจสับหน้าสับหลังกันได้ คำใดอยู่ต้นถือเป็นตัวตั้ง ความสำคัญอยู่ที่นั่น คำท้ายเป็นคำขยายไป เช่นเที่ยวเดิน-เดินเที่ยว ให้หา-หาให้

          7. คำตัวตั้งเป็นคำกริยา คำขยายเป็นกริยาวิเศษณ์ได้แก่
อวดดี   หมายความว่า      ทะนงใจว่าตัวดี
ถือดี         "     ถือว่าตัวดี ทะนงตัว
คุยโต        "    พูดเป็นเชิงอวด
วางโต        "     ทำท่าใหญ่โต

          8. คำตัวตั้งเป็นคำกริยา มีคำอื่นๆ ตาม มีความหมายไปในเชิงอุปมา และมีที่ใช้เฉพาะ ได้แก่
ตัดสิน หมายความว่า ลงความเห็นเด็ดขาด
ชี้ขาด " วินิจฉัยเด็ดขาด
นั่งนก " นั่งหลับ
อยู่โยง " เฝ้าสถานที่แต่ผู้เดียว
ตกลง " ยินยอม
คำประสมที่ใช้เป็นคำกริยาวิเศษณ์ ที่จริงถ้าจะเทียบกับคำประสมที่ใช้เป็นคำนาม คุณศัพท์และกริยาแล้ว คำประสมที่ใช้เป็นกริยาวิเศษณ์มีน้อยกว่ามาก ดังนี้
          1. คำตัวตั้งเป็นคุณศัพท์ คำขยายเป็นคำนาม ได้แก่
สามขุม ใช้กับ ย่าง เป็น ย่างสามขุม
สามหาว " พูด เป็น พูดสามหาว
          2. คำตัวตั้งเป็นกริยา คำขยายเป็นคำนาม ได้แก่
นับก้าว ใช้กับ เดิน เป็น เดินนับก้าว
สับเงา " นั่ง เป็น นั่งสับเงา
          3. คำตัวตั้งเป็นคำนาม คำขยายเป็นคำอื่นๆ ได้แก่
คอแข็ง ใช้กับ นั่ง เป็น นั่งคอแข็ง (เถียงไม่ออก)
คอตก " นั่ง เป็น นั่งคอตก (เศร้าเสียใจ)
          4. คำตัวตั้งเป็นบุรพบท คำขยายเป็นคำนาม ได้แก่
ในตัว เช่น เป็นนายเป็นบ่าวอยู่ในตัว
ในที " ยิ้มอยู่ในที
ในหน้า " ยิ้มในหน้า
นอกหน้า " แสดงออกจนออกนอกหน้า
ซึ่งหน้า " ว่าซึ่งหน้า

          5. คำตัวตั้งเป็นคำบุรพบท คำขยายเป็นคำกริยาวิเศษณ์ ได้แก่
ตามมีตามเกิด เช่น ทำไปตามมีตามเกิด (สุดแต่จะทำได้)โดยแท้ " เขาชำนาญเรื่องนี้โดยแท้
ยังมีคำอีกประเภทหนึ่งซึ่งมีบุรพบทนำหน้า มีคำวิเศษณ์ตามมา  เช่น โดยดี โดยเร็ว โดยด่วน ตามสะดวก ตามถนัด แต่ไม่
กำหนดไปตายตัว อาจเปลี่ยนคำที่ตามมาเป็นอย่างอื่นได้ จึงไม่น่าถือเป็นคำประสม

สรุปได้ว่า คำประสมอาจใช้เป็นได้ทั้งนาม คุณศัพท์ กริยา และกริยาวิเศษณ์

ข้อควรสังเกตเกี่ยวกับคำประสม

คำที่ไม่เกิดความหมายใหม่ จัดเป็น วลี หรือกลุ่มคำ เช่น   ลูกหมาตัวนี้ถูกแม่ทิ้ง เป็นวลี เพราะไม่เกิดความหมายใหม่   เจ้าหน้าที่กำลังฉีดยากำจัดลูกน้ำ เป็นคำประสม เพราะไม่ได้หมายถึงลูกของน้ำ

ลักษณะที่เหมือนกันคำประสมกับคำซ้อน

1. ต่างเป็นคำที่นำคำเดี่ยวอันมีใช้อยู่เดิมมารวมกันเข้าสร้างเป็นคำใหม่ขึ้น
2. เมื่อเกิดเป็นคำใหม่แล้ว ความจะต่างจากเดิมไป ที่เหมือนเดิมก็ต้องมีความหนักเบาของความหมายต่างกัน บางทีก็มีความหมายไปในเชิงอุปมา
3. คำที่ประสมกันก็ดี ซ้อนกันก็ดี ถ้าแยกออกเป็นคำๆ แล้วแต่ละคำมีความหมายสมบูรณ์ มีที่ใช้ในภาษา ทั้งนี้ผิดกับคำที่ลงอุปสรรคที่จะกล่าวต่อไป อุปสรรค์นั้นไม่มีความหมายและที่ใช้ในภาษา

ลักษณะที่ต่างกัน
1. คำประสม มี 2 คำหรือมากกว่านั้น
คำซ้อน มีคำเพียง 2 คำ ถ้าจะมีมากกว่านั้นก็ต้องเป็น 4 คำหรือ 6 คำ
2. คำประสม มีความหมายสำคัญที่คำตัวตั้ง ส่วนคำขยายมีความสำคัญรองลงไป
คำซ้อน ถือคำแต่ละคำที่มาซ้อนกัน มีความสำคัญเสมอกันเพราะต่างก็มีความหมายคล้ายกัน
3. คำประสม มีความหมายต่างจากเดิมไปบ้าง ถ้าคงเดิมก็มักเป็นคำที่ใช้เรียกชื่อสิ่งต่างๆ
คำซ้อน มีความหมายต่างจากเดิมไปบ้าง ถ้าคงเดิม ความเน้นหนักและที่ใช้ก็ต้องต่างไป แต่ถึงอย่างไร ความความใหม่ต้องเนื่องกับความหมายเดิม
4. คำประสม บางคำอาจสับหน้าสับหลังกันได้ แต่ถ้าเรียงสับที่กันความหมายก็จะต่างไป


เช่น เสือปลา กับ ปลาเสือและหน้าที่ของคำก็จะต่างไปด้วย เช่น ใจดี กับ ดีใจ
คำซ้อน อาจสับหน้าสับหลังได้เฉพาะบางคำที่เสียงไปได้ไม่ขัดหู
ออกเสียงได้สะดวก และบางคำสับที่แล้วความหมายต่างไป แต่ที่ไม่ต่างกันก็มี เช่น อัดแอ กับแออัด
 ข้อสังเกตคำประสมกับคำเดี่ยว

คำประสมบางคำมีลักษณะเหมือนคำเดี่ยวๆ (ที่เคยเรียกันว่าคำมูล)มาเรียงกันเข้า ทำให้พิจารณายากว่า คำใดเป็นคำประสมคำใดไม่ใช่ มีหลักพิจารณาได้ดังนี้
1. เสียงหนักเบา เรื่องเสียงนี้ไม่อาจรู้ได้จากตัวเขียนแต่เวลาพูดอาจสังเกตได้โดยเสียงหนักเบาบอกให้รู้ ดังกล่าวแล้วใน
เรื่องเสียงวรรณยุกต์ คือ ถ้าเป็นคำประสมน้ำหนักเสียงจะลงที่คำท้ายเป็นส่วนมาก ส่วนที่ไม่ได้ลงเสียงหนัก เสียงจะสั้นเบา บางที
อาจจะฟังไม่ชัด เหมือนหายไปเลยทั้งพยางค์ แต่ถ้าไม่ใช่คำประสมน้ำหนักเสียงจะเสมอกันและมีจังหวะเว้นระหว่างคำ (บางทีจะมีเสียงเหมือน น่ะ ม่ะ หรือ อ้ะ ท้ายคำที่มาข้างหน้า แต่เวลาเขียนกำหนดไม่ได้)ทั้งนี้เพราะคำที่เรียงกันมาแต่ละคำมีความสำคัญถ้าพูดไม่ชัดเจนทุกคำไปแล้ว ความหมายย่อมไม่แจ่มแจ้ง แต่คำประสมกับไม่เข้าใจความหมายเสียทีเดียว

2. ความหมาย คำประสมจะมีความหมายจำกัด จำเพาะว่าหมายถึงอะไร และหมายพิเศษอย่างไร เช่น รถเร็ว ไม่ใช่รถที่วิ่งเร็วทั่วๆ ไป เมื่อพูดย่อมเป็นที่เข้าใจกัน แต่คำบางคำไปมีความหมายอย่างอื่น ไม่ตรงตามคำเดี่ยวที่นำมาประสมกันเข้า เช่น สามเกลอ
สามขา หมายถึง เครื่องใช้เพื่อตอกเสาเข็มด้วยแรงคน


ที่มา บรรจบ พันธุเมธา, ศ.ดร. ลักษณะภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทยและภาคตะวันออก คณะมนุษศาสตร์

มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2540 หน้า 62 - 90

คำซ้อน(๒)

ลักษณะคำซ้อนเพื่อความหมายที่เป็นคำไทยซ้อนกับคำภาษาอื่น 
ส่วนมากเป็นคำภาษาบาลีสันสกฤตและเขมร เพื่อประโยชน์ในการแปลความหมายด้วย
ในการสร้างคำใหม่ด้วยดังกล่าวแล้ว คำที่มาซ้อนกันจึงต้องมีความหมายคล้ายกัน
เมื่อซ้อนแล้วความหมายมักไม่เปลี่ยนไป คำซ้อนลักษณะนี้มีดังนี้
คำไทยกับคำบาลีสันสกฤต ได้แก่ ซากศพ (ศพ จาก ศว สันสกฤต) รูปร่าง โศกเศร้า
ยวดยาน ทรัพย์สิน (ทรัพย์ จาก ทฺรวฺย สันสกฤต) ถิ่นฐาน จิตใจ ทุกข์ยาก
คำไทยกับคำเขมร ได้แก่ แสวงหา เงียบสงัด เงียบสงบ ถนนหนทาง สะอาดหมดจด
ยกเลิก เด็ดขาด
คำภาษาอื่นซ้อนกันเอง

คำบาลีกับสันสกฤตซ้อนกันเอง ได้แก่
อิทธิฤทธิ์ (อิทฺธิ บ. + ฤทฺธิ ส.)
รูปพรรณ (รูป บ.ส. + พรรณ จาก วรฺณ ส.)
รูปภาพ (รูป + ภาพ บ.ส.)
ยานพาหนะ (ยาน + วาหน บ.ส.)

ทรัพย์สมบัติ (ทฺรวฺย ส. + สมฺปตฺติ บ.ส.)
คำเขมรกับบาลีสันสกฤต ได้แก่ สุขสงบ สรงสนาน เสบียงอาหาร
คำเขมรกับเขมร ได้แก่ สะอาดสอาง สนุกสบาย เลิศเลอ สงบเสงี่ยม

ข. คำซ้อนเพื่อเสียง
ด้วยเหตุที่คำซ้อนเพื่อเสียง มุ่งที่เสียงยิ่งหว่าความหมาย คำที่
เข้ามาซ้อนกันจึงอาจจะไม่มีความหมายเลย เช่น โล กับ เล หรือมี
ความหมายเพียงคำใดคำเดียว เช่น มอมกับแมม มอม มีความหมาย
แต่ แมม ไม่มีความหมาย บางทีแต่ละคำมีความหมาย แต่ความหมาย
ไม่เนื่องกับความหมายใหม่เลย เช่น งอแง งอ หมายว่า คด โค้ง
แต่ แง หมายถึงเสียงร้องของเด็ก ส่วนงอแง หมายว่า ไม่สู้ เอาใจ
ยาก วิธีการสร้างคำซ้อนเพื่อเสียง จึงต่างกับคำซ้อนเพื่อความหมายดังนี้

วิธีสร้างคำซ้อนเพื่อเสียง
          1. นำคำที่เสียงมีที่เกิดระดับเดียวกัน หรือใกล้เคียงกันซ้อนกันเข้า
          2. ซ้อนกันแล้ว จะเกิดความหมายใหม่ ซึ่งโดยมากไม่เนื่องกับ
ความหมายของคำเดี่ยวแต่ละคำ แต่ที่มีความหมายเนื่องกันก็มี
สระหน้ากับกลาง
อิ + อะ เช่น จริงจัง ชิงชัง
เอะ เอ + อะ อา เช่น เกะกะ เปะปะ เบะบะ เละละ
เก้งก้าง เหง่งหง่าง
แอะ แอ + อะ อา เช่น แกรกกราก
สระกลางกับกลาง
อึ + อะ เช่น ขึงขัง ตึงตัง กึงกัง ตึกตัก ทึกทัก หงึกหงัก
เออะ เออ + อะ อา เช่น เงอะงะ เทอะทะ เร่อร่า เซ่อซ่า เลิ่กลั่ก เยิบยาบ
สระหลังกับกลาง
อุ + อะ อา เช่น ตุ๊ต๊ะ ปุปะ กุกกัก รุงรัง ปุบปับ
งุ่นง่าน ซุ่มซ่าม รุ่มร่าม
โอะ โอ + อะ อา เช่น โด่งดัง กระโตกกระตากโคร่งคร่าง โผงผาง
เอาะ ออ + อะ อา เช่น หมองหมาง
          2. เสียงของคำที่มาซ้อนกันมีเสียงที่เกิดระดับเดียวกัน ดัง
กล่าวแล้วในเรื่องเสียงสระ เสียงระดับเดียวกันคือ เสียงที่เกิดเมื่อ
โคนลิ้นหรือปลายลิ้นกระดกขึ้นได้ระดับเดียวกัน เสียงสระหน้ากับสระ
หลังที่ถือว่าอยู่ในระดับเดียวกัน ได้แก่ อิ กับ อุ เอะ กับ โอะ แอะ
กับ เอาะ แต่คำที่นำมาซ้อนกัน เสียงสระหลังจะเป็นคำต้น เสียงสระ


หน้าเป็นคำท้าย ที่เป็นเช่นนี้คงเป็นเพราะเมื่อเวลาออกเสียง
ลมหายใจจะต้องผ่านจากด้านหลังของปากมาทางด้านหน้า คำที่ซ้อน
เพื่อเสียงลักษณะนี้มีดังนี้
อุ อู + อิ อี เช่น ดุกดิก ยุ่งยิ่ง กรุ้มกริ่ม อุบอิบ อู้อี้ บู้บี้ จู้จี้ สูสี
โอะ โอ + เอะ เอ เช่น โงกเงก โอนเอน โย่งเย่ง บ๊งเบ๊ง โอ้เอ้ โย้เย้ โผเผ
เอาะ ออ + แอะ แอ เช่น ง่อกเง่ก จ๋องแจ๋ง กรอบแกรบ กล้อมแกล้ม อ้อแอ้ งอแง ร่อแร่ วอแว
ที่เป็นสระผสมก็มี ส่วนมากเป็นสระผสมกับหลัง ดังนี้
สระหน้ากับหน้า
เอีย + ไอ อาย เช่น เรี่ยไร เรี่ยราย เบี่ยงบ่าย เอียงอาย
ไอ + เอีย เช่น ไกล่เกลี่ย ไล่เลี่ย
สระหลังกับหลัง
อัว + เอา เช่น ยั่วเย้า มัวเมา
สระหลังกับหน้า
เอา อาว + ไอ อาย เช่น เมามาย ก้าวก่าย
อัว + เอีย เช่น อั้วเอี้ย ยั้งเยี้ย กลั้วเกลี้ย ต้วมเตี้ยม ป้วนเปี้ยน
          3. เสียงของคำที่มาซ้อนกันมีที่เกิดอื่นๆ นอกจากที่กล่าวแล้วคำที่มีตัวสะกด ตัวสะกดคำต้นกับคำท้ายต่างกันก็มี ดังนี้
สระกลางกับหน้า
อะ + เอีย เช่น พับเพียบ ยัดเยียด ฉวัดเฉวียน
สระกลางกับหลาง
เอือ + อา เช่น เจือจาน
สระกลางกับหลัง
อะ + อัว เช่น ผันผวน
สระหน้ากับกลาง
เอีย + อา เช่น เรี่ยราด ตะเกียกตะกาย
สระหน้ากับหลัง
เอ + ออ เช่น เร่ร่อน
สระหลังกับกลาง
อัว + อา เช่น ชั่วช้า ลวนลาม
สระหลังกับหน้า
อัว + เอ เช่น รวนเร สรวลเส
เอา + อี เช่น เซ้าซี้
สระหลังกับหลัง
โอ + เอา เช่น โง่เง่า
          4. คำที่นำมาซ้อนกันมีสระเดียวกันแต่ตัวสะกดต่างกัน มี 2 ลักษณะด้วยกัน คือ
                    ก. ตัวสะกดต่างกันในระหว่างแม่ตัวสะกดวรรคเดียวกันคือระหว่าง แม่กก กับ กง แม่กด กับ กน และแม่กบ กับ กม ดังนี้

แม่กก กับ แม่กง เช่น แจกแจง กักขัง
แม่กด กับ แม่กน เช่น อัดอั้น ออดอ้อน เพลิดเพลิน จัดจ้าน คัดค้าน
แม่กบ กับ แม่กม เช่น รวบรวม ปราบปราม
                    ข. ตัวสะกดต่างกันไม่จำกัดวรรค ได้แก่
แม่กก กับ แม่กม เช่น ชุกชุม
แม่กก กับ แม่กน เช่น แตกแตน ลักลั่น ยอกย้อน
แม่กก กับ แม่เกย เช่น ทักทาย ยักย้าย หยอกหย็อย
แม่กด กับ แม่กง เช่น สอดส่อง
          5. คำที่นำมาซ้อนกัน ต่างกันทั้งเสียงสระ และตัวสะกด
แม่กก กับ แม่กง เช่น ยุ่งยาก ยักเยื้อง กระดากเดื่อง
แม่กก กับ แม่กน เช่น รุกราน บุกบั่น ลุกลน
แม่กก กับ แม่กม เช่น ขะมุกขะมอม
แม่กก กับ แม่เกย เช่น แยกย้าย โยกย้าย ตะเกียกตะกาย
แม่กง กับ แม่เกย เช่น เบี่ยงบาย เอียงอาย มุ่งหมาย
แม่กง กับ แม่กน เช่น คั่งแค้น กะบึงกระบอน
แม่กด กับ แม่กง เช่น ปลดเปลื้อง ตุปัดตุป่อง เริดร้าง ตะขิดตะขวง
แม่กด กับ แม่กน เช่น อิดเอื้อน ลดหลั่น
แม่กน กับ แม่กง เช่น เหินห่าง พรั่นพรึง หม่นหมอง แค้นเคือง
แม่กน กับ แม่กม เช่น รอนแรม ลวนลาม
แม่กบ กับ แม่กม เช่น ควบคุม
แม่กม กับ แม่กง เช่น คลุ้มคลั่ง
แม่กม กับ แม่เกย เช่น ฟุ่มเฟือย
ที่ คำท้าย เป็นคำที่ไม่มีเสียงตัวสะกดเลยก็มี เช่น
ลบหลู่ ปนเป เชือนแช พื้นเพ หมิ่นเหม่ ลาดเลา หดหู่เขม็ดแขม่ เตร็ดเตร่ โรยรา ตะครั่นตะครอ ทุลักทุเล คลุกคลี
          6. คำที่ซ้อนกัน มีสระเดียวกันแต่ตัวสะกดคำท้ายกร่อนเสียงหายไป คำเหล่านี้เชื่อว่าคงจะเป็นคำซ้ำ เมื่อเสียงไปลงหนักที่คำต้นเสียงคำท้ายที่ไม่ได้เน้นจึงกร่อนหายไป น่าสังเกตว่าเมื่อตัวสะกดกร่อนหายไป เสียงสูงต่ำจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเพื่อชดเชยกับเสียงกร่อนนั้นๆ ได้แก่ จอนจ่อ (จากจอนๆ) งอนหง่อ ร่อยหรอ เลินเล่อ เตินเต่อ เทินเถ่อ โยกโย้ ทนโท่ ดนโด่ (ในคำกระดกกระดนโด่)
คำซ้อนเพื่อความหมายที่สับหน้าสับหลัง แล้วมีความหมายทั้งสองคำ ได้แก่
แน่นหนา กับ หนาแน่น แน่นหนา ความหมายเน้นที่ แน่น อย่างไม่หลุดไม่ถอน แน่นหนา คือ แน่นมาก เช่น ใส่กุญแจแน่นหนา คือ
ใส่กุญแจเรียบร้อยทุกดอก ไขอย่างไรก็ไม่ออก ส่วน หนาแน่นความหมายเน้นที่ หนา ซึ่งตรงข้ามกับบาง มักใช้กับผู้คนจำนวนมาก
เช่น ผู้คนหนาแน่น บ้านช่องหนาแน่น (คือบ้านมีมากหลัง ผู้คนย่อมจะมีมากไปด้วย)

อยู่กิน กับ กินอยู่ กินอยู่ หมายถึงพักอาศัย อาจรวมถึงกินอาหารด้วย เช่น ให้เงินค่ากินอยู่ คือให้ค่าที่พักและค่าอาหาร  ส่วนอยู่กินนั้นหมายเลยไปถึงการดำเนินชีวิตฉันสามีภรรยา

คำซ้อน 4 คำหรือ 6 คำ  คำซ้อนลักษณะนี้ไม่ว่าจะเป็น 4 คำหรือ 6 คำ จะมีสัมผัสกลางคำ ส่วนที่สัมผัสกันนั้น เห็นได้ชัดว่า เพื่อประโยชน์ทางเสียงโดยแท้เพราะความหมายไม่ได้ปรากฏที่นั่น ความหมายของทั้งคำปรากฏที่คำต้นกับคำท้ายบ้าง หรือปรากฏที่คำข้างหน้า 2 คำบ้าง ส่วนคำข้างท้าย2 คำ ไม่ปรากฏความหมายที่ความหมายปรากฏที่คำต้นและคำท้าย  
ยากดีมีจน (ยากจน) ผลหมากรากไม้ (ผลไม้) ข้าวยาก หมากแพง (ข้าวแพง) เอาใจดูหูใส่ (เอาใจใส่) หัวหายสพายขาด (หัวขาด)

ที่ความหมายปรากฏที่คำข้างหน้า 2 คำ

เจ็บไข้ได้ป่วย (เจ็บไข้) อดอยากปากแห้ง (อดอยาก) เกี่ยวดองหนองยุ่ง (เกี่ยวดอง)   ดูหมิ่นถิ่นแคลน (ดูหมิ่น) รูปโฉมโนมพรรณ (รูปโฉม)

ที่ไม่ปรากฏความหมายที่คำใดๆ เลยก็มี ต้องถือเป็นเรื่องซ้อนเพื่อเสียงแท้ๆ เช่น อีลุ่ยฉุยแฉก อีหลุกขลุกขลัก อีหร่ำต่ำฉึก

ที่ซ้อน 6 คำ ความหมายอยู่ที่คำต้นกับคำท้าย ได้แก่ อดตาหลับขับตานอน (อดนอน)
แต่ส่วน ขิงก็ราข่าก็แรง มีความหมายทั้ง 6 คำ 
คำซ้อน 2 คู่
คำซ้อนลักษณะนี้จะมีคำที่มีคำ 2 คำ ซึ่งอาจเป็นคำซ้อนหรือไม่ใช่คำซ้อนก็ได้ ซ้อนกันอยู่ 2 คู่ด้วยกัน มีลักษณะต่างๆ กัน
          1. คำซ้อนสลับ คือคำซ้อน 2 คู่สลับที่กัน คู่แรกแยกเป็นคำที่ 1 กับ 3 คู่ที่ 2 แยกเป็นคำที่ 2 กับ 4 คำที่นำมาซ้อนกันมักเป็นคำตรงกันข้าม ความหมายทั้งคำจึงต่างกับความหมายของคำที่แยกออกทีจะคำไปบ้าง ดังนี้
หน้า ชื่น อก ตรม ปากหวานก้นเปรี้ยว ผิดชอบชั่วดี หนักนิดเบาหน่อย
          2. คำที่ซ้อนกันเป็น 2 คู่เป็นคำประสมไม่ใช่คำซ้อน ซึ่งมีคำที่ 1 กับ 3 เป็นคำเดียวกันและคำที่ 2 กับ 4 เป็นคำที่มีความหมายใกล้เคียงกันใช้ซ้อนกันอยู่ ความหมายจะเด่นอยู่ที่คำข้างหน้าหรือคำข้างท้าย 2 คำ คำที่ 2 กับ 4 มักเป็นคำนาม ที่เป็นคำกริยาก็มีบ้าง   อด หลับ อด นอน (อดนอน ความหมายเด่นอยู่ที่คำท้าย 2 คำ)   ผิดหูผิดตา (ผิดตา ความหมายเด่นอยู่ที่คำท้าย)
ถูกอกถูกใจ (ถูกใจ ความหมายเด่นอยู่ที่คำท้าย)      หน้าอกหน้าใจ (หน้าอก ความหมายเด่นอยู่ที่คำหน้า 2 คำ)      หายใจหายคอ (หายใจ ความหมายเด่นอยู่ที่คำหน้า 2 คำ)    เป็นทุกข์เป็นร้อน (เป็นทุกข์ ความหมายเด่นอยู่ที่คำหน้า 2 คำ)  น่าสังเกตว่าถ้าเป็นเรื่องร่างกาย ความหมายเด่นอยู่ที่คำ อกแต่ถ้าเป็นเรื่องความรู้สึกความหมายอยู่ที่ใจ
         3. คำที่ซ้อนกันเป็นคำประสม 2 คู่ คำที่ 2 กับ 4 เป็นคำตรงกันข้าม ส่วนคำที่ 1 กับ 3 เป็นคำเดียวกัน ความหมายของคำซ้อนลักษณะนี้จึงต่างกับความหมายของคำเดี่ยวที่แยกออกไปทีละคำ ดังนี้
มิดีมิร้าย หมายความว่า ร้าย (ไม่ใช่ว่าไม่ดีไม่ร้ายเป็นกลางๆ อย่างไม่ได้ไม่เสีย ไม่แพ้ไม่ชนะ)   พอดีพอร้าย หมายความว่า ปานกลาง ไม่ดีมากแต่ก็ไม่เลวมาก  ไม่มากไม่น้อย หมายความว่า วางตัวพอดี เฉยๆ
คำในข้อ 2 กับข้อ 3 อาจถือเป็นคำซ้อนซ้ำ คือคำที่ 1 กับ 3 เป็นคำซ้ำซ้อนสลับคู่กับคำซ้อน ที่เป็นคำที่ 2 กับ 4 แต่ที่จริงข้อ 2 ควรเป็นคำประสมมากกว่าเพราะคำ อด ผิด ถูก หน้า หาย เป็น ฯลฯ
ที่เป็นตัวซ้ำได้มาจากคำประสมว่า อดนอน ผิดตา ถูกใจ หน้าอก หายใจ เป็นทุกข์ หรือคำประสมที่ตรงกันข้าม เช่น มิดี กับมิร้าย ไม่ใช้ว่ากำหนดขึ้นมาตามชอบใจ

การใช้คำซ้อนเพื่อเสียง


มีใช้แต่เป็นคำวิเศษณ์เสียโดยมาก มีทั้งวิเศษณ์ขยายนามและขยายกริยา ที่ใช้เป็นกริยาก็มีบ้าง แต่
ที่เป็นคำนามมีน้อยที่ใช้เป็นคำขยายนาม ได้แก่ เกะกะ เงอะงะ รุงรัง ซุ่มซ่าม
ที่ใช้เป็นคำขยายกริยา ได้แก่ ยั้วเยี้ย ง่อกแง่ก ต้วมเตี้ยม อุบอิบ
ที่ใช้เป็นคำกริยา ได้แก่ สูสี เบี่ยงบ่าย ตะเกียกตะกาย ยั่วเย้า
ที่ใช้เป็นนาม ได้แก่ ผลหมากรากไม้ รูปโฉมโนมพรรณ

ประโยชน์ของคำซ้อนเพื่อเสียง
          1. ทำให้ได้คำใหม่ที่สร้างได้ง่ายกว่าคำซ้อนเพื่อความหมาย
          2. ได้คำที่มีเสียงกระทบกระทั่งกัน เหมาะที่จะใช้ในการพรรณาลักษณะให้ได้ใกล้เคียงความจริง ทำให้เห็นจริงเห็นจังยิ่งขึ้น
          3. ได้คำที่มีทั้งเสียงและความหมายใหม่ โดยอาศัยคำเดิมที่มีอยู่แล้ว
ข้อควรสังเกต

          1. คำซ้อนในภาษาไทยส่วนใหญ่มีเสียงสัมผัสกัน เช่น ซาบซึ้ง ปีนป่าย เฮฮา
          2. คำที่มี 2 พยางค์ อาจซ้อนกันกลายเป็นคำซ้อน 4 พยางค์ เช่น เฉลี่ยวฉลาด ตะเกียกตะกาย