จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

คำซ้อน(๑)

คำซ้อน

          คำซ้อน (บางทีเรียก คำคู่) คือ คำที่มีคำเดี่ยว 2 คำ อันมีความหมายหรือเสียงคล้ายกันใกล้เคียงกัน หรือเป็นไปในทำนองเดียว
กัน ซ้อนเข้าคู่กัน เมื่อซ้อนแล้วจะมีความหมายใหม่เกิดขึ้น หรือมีความหมายและที่ใช้ต่างออกไปบ้าง คำซ้อนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ก. คำซ้อนเพื่อความหมาย           ข. คำซ้อนเพื่อเสียง
เจตนาในการซ้อนคำก็เพื่อให้ได้คำใหม่ มีความหมายใหม่ ถ้าซ้อนเพื่อความหมาย ก็มุ่งที่ความหมายเป็นสำคัญ ถ้าซ้อนเพื่อเสียง ก็มุ่งที่เสียงเป็นสำคัญ
          ก. คำซ้อนเพื่อความหมาย
วิธีสร้างคำซ้อนเพื่อความหมาย
          1. นำคำเดี่ยวที่มีความหมายสมบูรณ์ มีที่ใช้ในภาษามาซ้อนเข้าคู่กันคำหนึ่งเป็นคำต้น อีกคำหนึ่งเป็นคำท้าย คำต้นกับคำท้ายมีความหมายคล้ายกัน ใกล้เคียงกัน หรือไปในทำนองเดียวกัน อาจเป็น คำไทยด้วยกันหรือคำต่างประเทศด้วยกันหรือเป็นคำไทยกับคำต่างประเทศซ้อนกันเข้ากันก็ได้
          2. ซ้อนกันแล้วต้องเกิดความหมายใหม่ ซึ่งอาจไม่เปลี่ยนไปจากความหมายเดิมมากนัก หรืออาจเปลี่ยนไปเป็นอันมาก แต่ถึงจะเปลี่ยนความหมายหรือไม่เปลี่ยนอย่างไรก็ตาม ความหมายใหม่ย่อมเนื่องกับความหมายเดิม พอเห็นเค้าความหมายได้ประโยชน์ของคำซ้อนเพื่อความหมาย

          1.ทำให้ได้คำใหม่หรือคำที่มีความหมายใหม่ขึ้นในภาษา เช่น คำ แน่น กับ หนา 2 คำ อาจสร้างให้เป็น หนาแน่น แน่นหนา
          2. ช่วยแปลความหมายของคำที่นำมาซ้อนกัน คำที่นำมาซ้อนกันต้องมีความหมายคล้ายกัน
          3. ช่วยทำให้รู้หน้าที่ของคำและความหมายของคำได้สะดวกขึ้น เช่น คำ เขา อาจเป็นได้ทั้งนามและสรรพนาม ความหมายก็ต่างกันไปด้วย ถ้าซ้อนกันเป็น เขาหนัง (ดังที่กล่าวว่า จับได้คาหนังคาเขา หรือในโคลงที่ว่าโคความวายชีพด้วยเขาหนัง) ย่อมรู้ได้ว่า เขา เป็นคำนาม หมายถึงอวัยวะส่วนหนึ่งบนหัวของสัตว์บางชนิด แต่ถ้าซ้อนกันเป็น ของเรา (เช่นที่พูดว่าถือเขาถือเรา) เช่นนี้ เขาต้องเป็นสรรพนาม หมายถึงผู้ที่เราพูดถึงถ้าหากว่าใช้คำเดี่ยวๆ
          4. ช่วยกำหนดเสียงสูงต่ำให้ได้ และทำให้รู้ความหมายไปได้พร้อมกัน เช่น น้าอา หน้าตา หนาแน่น

ลักษณะของคำซ้อนเพื่อความหมายที่เป็นคำไทยซ้อนด้วยกัน
          1. ซ้อนแล้วความหมายจะปรากฏอยู่ที่คำต้นหรือคำท้ายตรงตามความหมายนั้นเพียงคำใดคำเดียว อีกคำหนึ่งไม่มีความหมายปรากฏ เช่น
ที่ความหมายปรากฏอยู่ที่คำต้น ได้แก่  คอเหนียง (ในความ คอเหนียงแทบหัก)            ใจคอ (ในความ ใจคอไม่อยู่กับเนื้อกับตัว)
แก้มคาง (ในความ แก้มคางเปื้อนหมด)      หัวหู (ในความ หัวหูยุ่ง)
ที่ความหมายปรากฏอยู่ที่คำท้าย ได้แก่       หูตา (ในความ หูตาแวววาว)        เนื้อตัว (ในความ เนื้อตัวมอมแมม)
          2. ความหมายของคำซ้อนปรากฏที่คำใดคำเดียวตรงตามความหมายนั้นๆ เช่นข้อ 1 ต่างกันก็แต่คำที่มาซ้อนเข้าคู่กันเป็นคำตรงกันข้ามแทนที่จะมีความหมายเนื่องกับคำตรงกันข้ามนั้นๆ กลับมีความหมายที่คำใดคำเดียวอาจเป็นคำต้นก็ได้คำท้ายก็ได้

ที่ปรากฏที่คำต้น ได้แก่ ผิดชอบ (ในคำ ความรับผิดชอบ)
ที่ปรากฏที่คำท้าย ได้แก่ ได้เสีย (เช่น เล่นไพ่ได้เสียกันคนละมากๆ)

          3. ความหมายของคำซ้อนที่ปรากฏอยู่ที่คำทั้งสอง ทั้งคำต้นและ

คำท้าย แต่ความหมายต่างกับความหมายของคำเดี่ยวอยู่บ้าง เช่น พี่น้องหมายถึงผู้ที่อยู่ในวงศ์วานเดียวกันเป็นเชื้อสายเดียวกันใครอายุมาก   นับเป็นพี่ ใครอายุน้อยนับเป็นน้อง ถ้าใช้คำว่าพี่น้องท้องเดียวกัน จึงถือเป็นผู้ร่วมบิดามารดาเดียวกัน
ลูกหลาน ก็เช่นกัน มิได้หมายเจาะจงว่า ลูกและหลาน หรือลูกหรือหลาน เช่น เขาเป็นลูกหลานครู ย่อมหมายถึงผู้ที่สืบเชื้อสายมา
จากครู อาจเป็นลูกหรือหลายหรือเหลน ก็ได้ ไม่ได้ระบุลงไปแน่

          4. ความหมายของคำซ้อนปรากฏเด่นอยู่ที่คำใดคำเดียว ส่วนอีกคำหนึ่งถึงจะไม่มีความหมายปรากฏ แต่ก็ช่วยเน้นความหมายยิ่งขึ้น เช่นเงียบเชียบ เชียบไม่มีความหมาย แต่ช่วยทำให้คำ เงียบเชียบ  มีความหมายว่า เงียบ มากยิ่งกว่า เงียบ คำเดี่ยวคำเดียว


ดื้อดึง ก็มีลักษณะ ดื้อ มากกว่า ดื้อดึง ขนาดใครว่าอย่างไรก็ไม่ฟัง จะทำตามใจตนให้ได้
คล้ายคลึง มีลักษณะ เหมือน มากกว่า คล้าย

          5. ความหมายของคำซ้อนกับคำเดี่ยวต่างกันไป บางคำอาจถึงกับเปลี่ยนไปเป็นคนละความ ที่ใดควรใช้คำเดียว กลับไปใช้คำซ้อนหรือกลับกัน ที่ใดควรใช้คำซ้อนกลับไปใช้คำเดี่ยว เช่นนี้ ความหมายย่อมผิดไป คำซ้อนลักษณะนี้ได้แก่
พร้อม กับ พร้อมเพรียง เช่น เด็กมีความพร้อมที่จะเรียน หมายความว่า ประสาทต่างๆ ถึงเวลาจะทำงานได้ครบถ้วน เพราะ
พร้อม แปลว่า เวลาเดียวกัน ครบครัน ฯลฯ หากใช้ว่าเด็กมีความพร้อมเพรียงที่จะเรียน ต้องหมายว่ามีความร่วมใจกันเป็นอันหนึ่ง
อันเดียวกันในการเรียน เพราะพร้อมเพรียง มีความหมายเช่นนั้น
แข็ง กับ แข็งแรง แข็งอาจใช้ได้ทั้งกายและใจ เช่น เป็นคนแข็งไม่ยอมอ่อนข้อให้ใคร หรือใจแข็ง ไม่สงสาร ไม่ยอมตกลงด้วย
ง่ายๆ ส่วนแข็งแรง ใช้แต่ทางกายไม่เดี่ยวกับใจ คนแข็งแรงคือคนร่างกายสมบูรณ์มีเรี่ยวแรงมาก

          6. คำซ้อนที่คำต้นเป็นคำคำเดียวกันแต่คำท้ายต่างกัน ความหมายย่อมต่างกันไป เช่น
จัดจ้าน (ปากกล้า ปากจัด) กับ จัดเจน (สันทัด ชำนาญ)
เคลือบแคลง (ระแวง สงสัย) กับ เคลือบแฝง(ชวนสงสัยเพราะความจริงไม่กระจ่าง)
ขัดข้อง (ติดชะงักอยู่ ไม่สะดวก) กับ ขัดขวาง (ทำให้ไม่สะดวกไปได้ไม่ตลอด)

          7. ความหมายของคำซ้อนขยายกว้างออก ไม่ได้จำกัดจำเพาะความหมายของคำเดี่ยวสองคำมาซ้อนกัน ได้แก่เจ็บไข้ ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงเจ็บเพราะบาดแผลหรือฟกช้ำและมีอาการความร้อนสูงเพราะพิษไข้ แต่หมายถึงอาการไม่สบายเพราะสุขภาพไม่ดี เรื่องใดๆ ก็ได้ทุบตี หมายถึงทำร้ายด้วยวิธีการต่างๆ อันอาจเป็น เตะ  ต่อย ทุบ ถอง ฯลฯ ไม่ได้หมายเฉพาะทำร้ายด้วยวิธีทุบและตีเท่านั้น    ฆ่าฟัน ไม่จำเป็นต้องทำให้ตายด้วยคมดาบ อาจใช้ปืนหรืออาวุธอย่างอื่นทำให้ล้มตายก็ได้

2 ความคิดเห็น: